ภาษาไทยกับการพัฒนาทักษะการสื่อสาร ม.3

เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษา ค้นคว้า ของนักเรียนระดับ ม.3

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการเขียนนวนิยาย

การเขียนนวนิยาย

๑. ประเภทของนวนิยาย

การ แบ่งประเภทของนวนิยาย ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัว ไม่มีทฤษฎีใด ๆ มาบอกว่าใครแบ่งถูกหรือผิด บางคนก็แบ่งได้มากและละเอียดยิบ บางคนก็แบ่งเอาง่าย ๆ คร่าว ๆ ไม่มีไม่มีใครว่ากัน แต่ความสำคัญและจำเป็นของการแบ่งประเภทของนวนิยายเท่าที่เห็นแน่ ๆ ก็คือ มันง่ายต่อการทำตลาด และเหมาะสำหรับนักเขียนใหม่ ที่ควรจะรู้เอาไว้เป็นแนวในการเขียนเท่านั้น แต่ก็อีกแหละ ...เวลานักเขียนเขาเขียนนวนิยายจะไม่มัวมาขีดเส้นแบ่งหรอกว่า กำลังเขียนนวนิยายประเภทไหนอยู่ เพราะมันใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นการแบ่งในที่นี้จึงขอแบ่งกว้าง ๆ ดังนี้
•  นวนิยายรัก ( Romance fiction ) เป็น นวนิยายที่มีเรื่องราวของความรักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นแกนกลางของ เรื่อง จะเป็นเรื่องที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นสำคัญ นวนิยายประเภทนี้มีมากที่สุดในตลาดนวนิยาย และพล็อตเกี่ยวกับความรักก็จะสอดแทรกเข้าไปอยู่ในนวนิยายเกือบทุกประเภท
•  นวนิยายลึกลับ ( Mystery fiction ) จะเน้นไปที่นวนิยายประเภทสืบสวนสอบสวน หรือเป็นนวนิยายนักสืบ
•  นวนิยายสยองขวัญ (Horror fiction) เป็น นวนิยายที่เสนอเรื่องสยองขวัญระทึกขวัญเช่นเรื่องเกี่ยวปีศาจ สัตย์ร้ายมหึมา เรื่องผีดิบดูดเลือด แวมไพร์ หรือเรื่องของหญิงสาวบริสุทธิ์น่าสงสารตกอยู่ในการขู่เข็ญของคนหรือสิ่งใด สิ่งหนึ่ง
•  นวนิยายวิทยาศาสตร์ ( Sciences fiction ) เป็นนวนิยายที่เอาเรื่องทางวิทยาศาสตร์มาเป็นแกนสำคัญในการสร้างเรื่อง
•  นวนิยายมหัศจรรย์ ( Fantasy fiction) นวนิยาย ที่เน้นในเรื่องเวทมนตร์ ความเชื่อและศรัทธาอันก่อให้เกิดอภินิหาร เรื่องราวเหนือธรรมชาติ แต่หลัง ๆ มานี่มักจะมีการรวมกันเอาทั้งวิทยาศาสตร์และเวทมนตร์เข้าด้วยกัน กลายเป็นประเภท sciences fantasy ขึ้นมา
•  นวนิยายแนวกามารมณ์ ( Erotica fiction) นวนิยายที่เน้นในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก และเขียนถึงฉากกามารมณ์มากเป็นพิเศษในเรื่อง
•  นวนิยายที่สะท้อนปัญหาสังคม เป็น นวนิยายที่คนแต่งมุ่งแสดงหรือเปิดเผยให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองลงในเรื่อง โดยผ่านตัวละคร ส่วนทางแก้นั้นก็แล้วแต่ผู้เขียนเหมือนกันว่าจะเสนอเอาไว้ไหม หรือเพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเท่านั้น ที่เหลือ ให้คนอ่านคิดเอาเอง
( หากคุณอ่านนวนิยายเรื่องไหนแล้ว ไม่ตรงกับประเภทที่แบ่งเอาไว้ อย่ากังวล เติมมันลงไปได้เลย )

    ๒. องค์ประกอบของนวนิยาย

Plot : พล็อตเรื่อง โครงเรื่อง
พล็อต หมายถึงชุดของเหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องมีความหมายและก่อให้เกิดผลบางอย่างใน นวนิยายโดยส่วนมากเหตุการณ์มักจะเกิดขึ้นจาก ความขัดแย้ง หรือปัญหาที่ตัวละครสำคัญได้พบ หรือได้รับรู้ ความขัดแย้งนี้อาจจะมากจากสิ่งภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นการตาย การได้รับอุบัติเหตุ การถูกโจมตี การมีแม่เลี้ยง ฯลฯ หรือประเด็นความขัดแย้งคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร เช่นความอิจฉาริษยา การสูญเสียชื่อเสียง ความทะเยอทะยาน ความโลภ ฯลฯ เมื่อตัวละครได้สร้างทางเลือกและพยายามที่จะแก้ปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ถูกขัดเกลา และพล็อตได้เกิดขึ้น ในนวนิยายบางเรื่อง นักเขียนได้ได้วางโครงสร้างทั้งหมดของพล็อตไปตามลำดับคือเหตุการณ์ที่หนึ่ง ได้เกิดขึ้น ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่สอง สาม และต่อ ๆ ไปตามลำดับ ( เกิดเหตุการณ์ a แล้วเกิด b เกิด c เกิด d ตามลำดับ สลับกันไม่ได้ ) แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีนวนิยายหลายเรื่องเหมือนกันที่ถูกเล่าแบบใช้เทคนิคการเล่าเรื่องย้อน หลัง (flashback) ซึ่งเป็นพล็อตเหตุการณ์ที่เกิดในตอนต้น ถูกนำเข้าไปแทรกในเหตุการณ์ปัจจุบันของเรื่อง ในบางมุมของพล็อต ได้ถูกอธิบายไปหลากหลายในแนวการทำงานของเรื่องแต่ง เช่น เรื่องจะเกิดขึ้นเมื่อ
ได้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้น ( rising action ) เช่น ตัวละครได้พบหรือรับรู้ปัญหาจากชุดของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นักเขียนได้พล็อตขึ้น อย่างซับซ้อน ( complicate) ที่เพิ่มให้ตัวละครตกอยู่ในปัญหาที่ยุ่งยากลึกลงไปอีก ความขัดแย้งจะนำไปสู่ จุดไคลแมกซ์ ( climax) อันเป็นจุดตัดสินที่จะบอกให้รู้ว่าเรื่องทั้งหมดจะถูกคลี่คลายไปด้วยวิธีใด และเมื่อความขัดแย้งถูกทำให้หมดไป สิ่งที่เกิดขึ้นหลังไคลแมกซ์ ( falling action ) ทั้งหมดก็จะนำไปสู่ตอนจบของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร หรือสถานการณ์ เช่นการฆ่าตัวตาย การได้รับสถานภาพใหม่
โครงสร้างเหล่านี้มักจะถูกนำเสนอออกในรูปแบบ โครงสร้างสามส่วน ( แม้ว่าเรื่องบางเรื่องไม่เหมาะกับแบบนี้ )
      
ลองสร้างพล็อตง่าย ๆ
พล็อตโดยมากจะถูกพัฒนา เนื่องมาจากตัวละครอยู่ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และความขัดแย้งจะทำให้คนอยู่ในเหตุการณ์ยากลำบากเหมือนหนีเสือปะจระเข้ อยู่ในภาวะกดดัน หรือถูกขู่เข็ญจากศัตรู ต้องมีภาระรับผิดชอบ หรือสูญเสียสิ่งสำคัญไป ในหลาย ๆ เรื่อง ทางเลือกของตัวละครในการแก้ปัญหาจะแตกต่างกันไปตามสิ่งแวดล้อมและภายนอกที่ ไม่เหมือนกัน และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเองก็จะเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองไปตลอดทั้ง เรื่องหลังจากที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาอาจทั้งได้รับ หรือสูญเสีย พวกเขาอาจจะเติบโตทางความคิด หรือเอาชนะจุดอ่อนในตัวเองได้ ให้พล็อตเรื่อง โดยสร้างตัวละครขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วเอาเขาเข้าไปอยู่ในสถานการณ์สักอย่าง เช่น
•  แม่บ้านคนหนึ่งอยากออกไปทำงานนอกบ้าน
•  เด็กนักเรียน ม.ปลาย ตั้งท้อง ในขณะที่พ่อแม่เชื่อว่าเขากำลังขะมักเขม้นกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
•  ผู้ชายคนหนึ่งต้องตกงานในขณะที่แฟนสาวของเขาถูกเลื่อนขั้น
ให้ คิดขึ้นโคร่งร่างพล็อตขึ้นมา สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คุณคิดจะให้ตัวละครเลือกทำ อะไรจะก่อนขึ้นก่อน อะไรจะตามมา ถ้าเป็นไปได้ ชี้ให้เห็นถึงไคลแมกซ์หรือทางแก้ปัญหาที่จะเกิดในพล็อต บรรยายให้เห็นถึงความเหมาะสมของเหตุการณ์และทางเลือกที่ตัวละครเลือก
( เทคนิคในการสร้างพล็อตเรื่อง คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จาก หนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง ในหนังสือจะกล่าวถึงวิธีสร้างพล็อตอย่างง่าย และรวบรวมพล็อตต่าง ๆ ให้คุณเห็นถึง ๕๐ พล็อต )

Character : ตัวละคร
คือตัวละครในเรื่องแต่ง รวมความไปถึงมนุษยชาติหรือสัตว์ หรืออื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในเรื่อง
นัก เขียนเรื่องแต่งโดยมาก ยอมรับกันว่า ตัวละครคือกุญแจในการพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ในเรื่อง และเป็นส่วนสำคัญในการที่จะเข้าใจเรื่องมากขึ้น ถ้าหากตัวละครถูกชี้ให้เห็นความแตกต่างในแต่ละตัว และทำให้คนอ่านมีความเชื่อถือและสนใจในตัวละคร
ตัวละครเอก ( protagonist) จะเป็นศูนย์กลางของพล็อตเรื่อง ในการที่นักเขียนจะใช้เป็นตัวร้อยเรื่องราวต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อแสดงให้เห็นแก่นของเรื่อง
ตัวละครร้าย (antagonist) จะเป็นตัวละครหรือเป็นสิ่งที่ขู่เข็ญในความขัดแย้งกับตัวละครเอก ตัวละครในเรื่องอาจจะเป็นทั้ง
ตัวประกอบอื่นๆ ที่เอาเข้ามาไว้ในเรื่องเพื่อให้เรื่องดูเหมือนจริง
การสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละคร ( characterization )
นัก เขียนได้ใช้เทคนิคแตกต่างกัน บางคนใช้การบอกเล่าในการบรรยายให้เห็นตรง ๆ บางคนแสดงให้เห็นจากการกระทำของตัวละครที่โต้ตอบสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในสถานการณ์ต่าง ๆ บางคนก็แสดงให้เห็นจากวิธีพูดคุยกับตัวละครตัวอื่น หรือมาจากการคิดในใจของตัวละครเอง หรือการกล่าวถึงจากตัวละครตัวอื่น
ตัวละครแบบมีมิติ ( round character) สร้าง ขึ้นมาแบบให้มีหลากหลายคุณสมบัติและอารมณ์ จุดเด่นจุดด้อย มีความซับซ้อนและต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการผ่านเหตุการณ์ต่าง ในเรื่อง )
ตัวละครแบบแบน ๆ (flat character) มักเป็นตัวละครประกอบที่ไม่สำคัญ บุคลิกไม่ซับซ้อน อาจมีเพียงมิติเดียว

รู้จักกับตัวละครแบบง่าย ๆ

เมื่อ ตัวละครถูกสร้างในนวนิยาย ความหลากหลายในรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวละครจะถูกนักเขียนจัดเตรียมไว้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหรือให้ เหมือนกับเป็นคนที่มีอยู่จริง รายละเอียดของตัวละครแบบแบนอาจมีเพียงเรื่องหยาบ ๆ อย่างเรื่องเพศ อายุ อาชีพ หรือเป็นอะไรในครอบครัว ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ในทางตรงข้าม ตัวละครแบบมีมิติจะถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องเสื้อผ้า ทักษะ ความฝัน ความหวัง ความกลัว ความชอบ หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแสดงให้คนอ่านรู้ได้ จากการเล่าเรื่อง การพูดคุย การส่งผ่านความคิดของตัวละคร และพฤติกรรมของเขา
การสร้างตัวละคร
ให้เลือกตัวละครขึ้นมาสักตัวกำหนดให้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน เช่น ขี้เหนียว ตะกละ โหดร้าย ใจดี ฯลฯ
ใส่รายละเอียดเช่น อายุ เพศ อาชีพ นิสัยส่วนตัวตั้งแต่เกิด
จาก บุคลิกลักษณะที่เขาเป็น บรรยายถึงความเป็นไปได้ของปํญหาหรือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากตัวเขาเอง( เช่นมุ่งงาน จนทำให้ขาดเวลาเอาใจใส่ครอบครัว ) และอธิบายถึงวิธีที่เขาจะแก้ปัญหานี้
สร้างกลุ่มปัญหาและสถานการณ์ขึ้นมาสักห้าหกอย่าง แล้วมองดูว่าตัวละครจะทำอย่างไร
ให้ พิจารณาถึง นิสัยของแต่ละคน ความกลัว ความต้องการ ความหลัง ความผัน ความมีเหตุผล ความสัมพันธ์ จุดอ่อน จุดแข็ง อดีตของตัวละครฯลฯ มาร่วมในการสร้างปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของเขา ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ และทำไมจึงไม่เป็นอย่างอื่น
ลอง ใส่ตัวละครตัวอื่น ที่มีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป ลงในปัญหาและสถานการณ์เดิมที่คุณสร้างคุณ คิดถึงวิธีแก้ปัญหาของเขา แตกต่างกันอย่างไรบนพื้นฐานบุคลิกของตัวละครแต่ละตัว
( เรียนรู้การสร้างตัวละคร ตัวละครสร้างเรื่องได้อย่างไร และรู้จักกับตัวละครที่เป็นแม่แบบเห็นได้บ่อย ๆ ทั้งพระเอก นางเอก ตัวร้าย ตัวอิจฉาในหนังสือ ๑๐๐คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )

Setting : ฉากเวลาและสถานที่
   เป็น เรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะมันหมายถึง สถานที่ที่เป็นทั้งภูมิทัศน์ภายนอก และการตกแต่งภายใน และเวลา ที่เรื่องได้เกิดขึ้น รวมความไปถึงสภาพภูมิอากาศ ช่วงประวัติศาสตร์ การดำเนินชีวิต หรือเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมในช่วงที่ เรื่องได้เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่จะมีบุคลิกและเสน่ห์ในตัวของมันเอง ( เช่นทะเลทราย ใต้น้ำ ป่าเขา )
  Setting ในนวนิยายจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หรือสิ่งที่จินตนาการขึ้นเองก็ได้ หรือจะเป็นทั้งสองอย่างรวมกัน ( หากเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ข้อมูลที่ใส่ลงไปต้องถูกต้องตามความเป็นจริง )
  Setting มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์ต่อตัวละคร พล็อตเรื่อง และบรรยากาศในเรื่อง
  การ เปิดเผยฉากสถานที่และเวลาโดยมากจะเป็นการบรรยายให้เห็นโดยตรงจากคนเขียน แต่ก็มีเหมือนกันที่จะแสดงให้เห็นโดยผ่านการกระทำ การพูด หรือการคิดของตัวละคร
ฝึกสร้าง setting ให้สัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆในเรื่อง
ตัวละคร ใน เรื่องต้องเกี่ยวพันกับฉากสถานที่และเวลาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉากสถานที่จะช่วยเปิดให้เห็นถึงบุคลิกของตัวละคร คนที่มาจากต่างสถานที่กันจะมีความแตกต่างกัน มันสามารถขัดเกลาตัวละครได้ คิดถึงตัวละครที่อยู่ในเมืองใหญ่แออัด กับตัวละครที่อยู่ชนบท คนที่อยู่ในคฤหาสน์กับคนที่อยู่ในสลัม คนที่อยู่ในสังคมที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม กับสังคมที่มุ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
บรรยากาศในเรื่อง ฉาก สถานที่และเวลาจะช่วยสร้างได้มาก จนนวนิยายหลายเรื่องทำให้สถานที่กลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องที่สร้าง ความตื่นเต้น ความกลัว ความลึกลับน่าสะพรึงกลัว
พล็อตเรื่อง เคย มีคำกล่าวว่า ถ้าหากคิดพล็อตไม่ออก ก็ให้เผาบ้าน ระเบิดเขื่อน มีพายุ หรือ หิมะตกหนัก ฯลฯ เสีย แล้วจะมีเหตุการณ์ให้คุณเขียนขึ้นได้เอง ( แต่ต้องมีวัตถุประสงค์ในการสร้างมันขึ้นมาด้วยนะ เช่น อยากให้พระเอกนางเอกรู้จักกันเป็นครั้งแรกคุณอาจเริ่มที่ แปลงกุหลาบของนางเอกถูกสุนัขพระเอกขุดทำลาย)
ให้เลือกมาสักสถานที่หนึ่ง แล้ว อธิบายรายละเอียดสั้น ๆว่าเป็นอย่างไร ใส่รายละเอียดเพิ่มเติมที่จะทำให้มันขยายวงกว้างออกไปได้บ้างไหม และบรรยากาศอย่างไรที่จะคุณเลือกให้กับสถานที่ของคุณ (สนุกสนาน น่ากลัว ทุกข์ยาก ลึกลับ น่าสบายใจ ) รายละเอียดแบบไหนบ้างที่จะสร้างความรู้สึกเช่นนั้น
( ความสำคัญของ setting และวิธีเลือกให้เหมาะสมกับเรื่อง พร้อมกับวิธีสร้าง ดูได้จากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )

Point of View : เสียงเล่าเรื่อง มุมมอง
ความหมายง่าย ๆ คือ เสียงเล่าเรื่อง อาจจะอยู่ในรูป
บุคคลที่หนึ่ง เล่าเรื่องโดยใช้ คำว่า ฉัน ข้าพเจ้า พวกเรา ซึ่ง เป็นตัวละครที่เล่าเรื่อที่ตัวเองอยู่ร่วมด้วยให้ฟัง อาจจะเป็นการเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันถึงตัวเองโดยตรงซึ่งส่วนมากจะเป็นตัวเอก ในเรื่อง เช่น ฉัน เดินข้ามถนน หรือเป็นการเล่าเรื่องของตัวละครตัวรองที่อยู่ในเรื่องได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เขาเห็นให้ฟังก็ได้ เช่น “ ฉันเห็น ธอเดินข้ามถนน
บุคคลที่สาม เป็นเสียงเล่าที่เกิดเมื่อคนเล่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง จากตัวอย่าง ฉันเดินข้ามถนน จะกลายเป็น เธอเดินข้ามถนน หรือ วนิดาเดินข้ามถนน มี ๓ แบบคือ
  • แบบรู้ไปหมดทุกอย่า ง เสียงเล่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกแห่งและทุกที่ รู้ไปถึงความนึกคิด จิตใจของตัวละคร ได้ทีละหลาย ๆ คน
  • แบบเลือกผ่านตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่อง การ เล่าเรื่องจะเล่าในมุมมองของตัวละครที่ถูกเลือก ตัวละครรู้ เห็น คิด อะไร ก็เล่าได้เพียงแค่นั้น การเล่าวิธีนี้จะมีข้อที่มั่วได้ง่ายหากไม่ระวัง คือ อย่าให้ตัวละครของคุณ เล่าถึงความคิดในหัวตัวละครอื่นเด็ดขาด
  • แบบเล่าเฉพาะสิ่งที่เห็นหรือตัวละครแสดงออกภายนอกอย่างชัดเจน เช่น การบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บรรยายถึงสถานที่สิ่งแวดล้อม บอกกิริยาที่ตัวละครแสดงออก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวละครคิดอะไร หรือมีอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ อยู่
บุคคลที่สอง ไม่ เป็นที่นิยมใช้เท่าไหร่ในการแต่งนวนิยาย จะเหมือนเป็นการเล่าเรื่องของเราเองให้เราฟัง เช่น คุณเดินไปที่ถนน คุณหยิบเสื้อขึ้นมาใส่ คุณเดินตรงไปห้องเปิดประตู แล้วก็นอนบนเตียง ฯลฯ การเขียนอย่างนี้เหมาะกับการปลุกเร้า ชี้ชวน หรือแนะนำ
การฝึกฝนเรื่อง point of view
ทำได้โดยการอ่านนวนิยาย แล้วเลือกเอามาสักตอน เขียนใหม่ในมุมมองของตัวละครตัวอื่น หรือเลือกใช้ประเภทแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป
( ดูตัวอย่างและทำความเข้าใจในเรื่อง point of view ได้มากขึ้นในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )


Theme : แก่นเรื่อง ใจความสำคัญของเรื่อง

เป็นความคิดรวบยอดที่เหลือไว้หลังจากที่อ่านจนจบเรื่อง เป็นเสมือนคำตอบของคำถาม คุณได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ เป็น เรื่องที่น่าสนใจว่า ในเรื่องเดียวกัน คนอ่านอาจจะรับรู้ได้ไม่เหมือนกัน เพราะการตีค่านอกจากจะมาจากการนำเสนอเรื่องของนักเขียนแล้ว ยังขึ้นกับระดับความรู้ การรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกของคนอ่านด้วย ซึ่งมันอาจไม่ตรงกับที่นักเขียนต้องการจะนำเสนอก็ได้ และเป็นเรื่องที่คนอ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้
ความ สำคัญของแก่นเรื่องหรือ ธีม จึงดูเหมือนจะมีความสำคัญสำหรับนักเขียนมากกว่าคนอ่านเสียอีก เพราะหากนักเขียนไม่มีหลักที่เป็นแกนกลางของความคิดของเรื่องที่จะให้เกิด ขึ้นแล้ว เรื่องที่จะเล่าก็คงจะสะเปะสะปะ ขาดทิศทาง หรือความเป็นหนึ่งเดียวของเรื่องจนทำให้เรื่องขาดพลังไปได้
อีกคำหนึ่งที่ควรจะรู้จักเอาไว้ก็คือ คำว่า พริไมส์ ( premise ) ซึ่ง มีส่วนสำคัญในการเขียนเรื่องพอ ๆ กับธีม เพราะมันคือประโยคที่เป็นสมมติฐานอันแสดงออกถึงความคิดของนักเขียนที่มีต่อ ธีมของเรื่อง และบทบาทของตัวละคร รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง จะต้องแสดงหรือเปิดเผยให้เห็นความเป็นจริงอย่างที่นักเขียนตั้งเอาไว้ เช่นนักเขียนตั้งสมมติฐานในเรื่องของความรักเอาไว้ว่า ความรักท้าทายได้แม้ความตาย ไม่ ว่าจะเป็นตัวละคร หรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง ต้องสนับสนุนและพิสูจน์ว่า ประโยคนี้เป็นจริงในเรื่องที่นักเขียนแต่งขึ้นเท่านั้น ( เราจะไม่รับรองในโลกของความเป็นจริง เพราะสามารถตีค่าได้มากมายจากความคิดเห็นของคนอ่านแต่ละคน )
( อ่านวิธีสร้างเรื่องจากธีมและพริไมส์ รวมทั้งการสร้างพริไมส์ ด้วยตัวเองจากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )

๓. จะเริ่มอย่างไร
สำรวจตัวเองให้พร้อม
   อยาก เป็นนักเขียนที่เขียนได้เสร็จเป็นเล่ม มันอยู่ที่ตัวคุณเองถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่การจะประสพความสำเร็จหรือไม่จะเป็นปัจจัยภายนอก เราบอกไม่ได้ว่า จะมี บก. หรือคนอ่านชอบเรื่องของเราแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ ถ้าเราเขียนมันไม่เสร็จ มันก็ออกไปให้ใครตัดสินไม่ได้ จงเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน
หากอยากเป็นนักเขียน ลองถามตัวเองก่อนเลยว่า
   ทำไมจึงอยากเขียน ? คุณ มีเหตุผลอะไร คุณเขียนคำตอบลงไปได้ไหม? และไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ถือว่าถูกต้องทั้งหมด แต่ถามตัวเองต่อด้วยว่า เหตุผลที่คุณมีนั้น มันเป็นแรงบันดาลใจ มีแรงดึงดูดใจมากเพียงพอให้คุณอยากเป็นนักเขียนจริง ๆ หรือเปล่า ? ถ้าคุณตอบว่า ใช่ ถือว่าคุณผ่าน
   คุณมีเวลาที่แน่นอนสำหรับการเขียนไหม? หาก ไม่มีคุณจะจัดตั้งมันขึ้นมาได้ไหม?และเมื่อคุณจัดตารางเวลาสำหรับการเขียน ได้แล้ว คุณจะทำมันทุกวันอย่างสม่ำเสมอได้ไหม? ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะมีเวลาแต่ละวันเท่าไหร่ สำคัญที่ว่า คุณต้องทำให้ได้อย่างที่คุณตั้งไว้ ( ข้อแนะนำอย่างน้อยวันละ ๑-๒ ชั่วโมง ถ้าไม่ได้เลย วันละ ๓๐ นาทีก็ได้ )
   คุณหาสถานที่เป็น X ส่วนในการเขียนได้ไหม? ไม่ จำเป็นจะต้องเป็นที่ใหญ่โต แค่มุมใดมุมหนึ่งในห้อง หรือโต๊ะเล็ก ๆ ในครัวก็ยังได้ ขอเพียงแต่ทำให้คุณมีสมาธิที่จะเขียนได้อย่างจริง ๆ ไม่ถูกขัดจังหวะจากบุคคลอื่น ๆ เท่านั้น
   อุปกรณ์ที่คุณควรจะมีเตรียมให้พร้อม ก็พวกกระดาษ ดินสอ ปากกา เครื่องพิมพ์ดีด และถ้าจะให้ดี ก็ควรจะเป็นคอมพิวเตอร์สักตัว
ตัดสินใจจะเขียนอะไร
   คุณ มีไอเดียอยู่ในหัวบ้างแล้วยังว่า คุณจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือแนวไหน( ดูจากประเภทของนวนิยาย) และมันมีหลากหลายทางเลือกที่จะเขียน แต่หากยังไม่มีให้ลองพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้
   เขียนเรื่องที่คุณรู้ เป็น คำแนะนำที่ได้รับบ่อย ๆ สำหรับนักเขียนใหม่ เพราะการเขียนเรื่องที่คุณรู้ มันจะทำให้คุณเริ่มต้นได้ง่าย มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนทันที
   เขียนเรื่องที่คุณไม่รู้ นี่ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คุณไม่จำเป็นจะเริ่มเขียนจากสิ่งที่คุณรู้ก็ได้ ถ้าหากสิ่งที่คุณไม่รู้ มันเป็นสิ่งที่คุณสนใจอยากค้นหาอยากรู้เรื่อง อยากเขียนให้คนอื่น ๆ ได้รู้เหมือนคุณ และเดี๋ยวนี้การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นในห้องสมุด ร้านขายหนังสือที่เปิดโอกาสให้คนเลือกอ่านจนหนำใจแล้วค่อยซื้อ และที่สำคัญใน internet ( ต้องเก่งภาษาอังกฤษหน่อย )
   เขียนในสิ่งที่คุณรัก มันจะเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจ มันจะทำให้คุณมีความสุขในการเขียนถึง
   เขียนในสิ่งที่คุณไม่ชอบ บอกมาเลยทำไมคุณไม่ชอบเพราะอะไร คุณมีไอเดียที่จะเสนอทางออกไหม? หรือจะปล่อยให้คนอ่านตัดสินใจเอาเอง
   เขียนเรื่องที่คุณอยากอ่าน นี่ เป็นเหตุผลที่ดีมาก สำหรับนักเขียนใหม่ จะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นสิ่งที่คุณอยากอ่าน เวลาคุณเขียนคุณก็จะมีความสุขไปกับมันด้วย หากไม่รู้ว่าเรื่องที่คุณอยากอ่านนั้นมันจะดีไหม? ก็ให้ถามตัวเองว่า อีกสองปีข้างหน้า คุณยังจะอยากอ่านเรื่องแบบนี้ไหม ถ้าใช่ ลงมือเขียนเลย
   เขียนเรื่องตามตลาด ไป สำรวจตามร้านหนังสือ ว่ามีเรื่องประเภทใดออกมาบ้าง แต่ให้ระวัง ขณะที่คุณสำรวจตลาด กับเวลาที่คุณจะเขียนออกมาเวลามันต่างกันมากน้อยแค่ไหน ความนิยมอาจเปลี่ยนไปแล้วก็ได้
๔.จะหาไอเดียมาจากไหน
ปัญหา หนึ่งที่คนอยากเป็นนักเขียน มักจะถามนักเขียนอยู่เสมอว่า หาไอเดียมาจากไหน นักเขียนบางคนก็งง ๆ นะไม่รู้จะบอกว่าไง เพราะบางอย่างมันก็แว่บขึ้นมาเอง บางอย่างมันก็เกิดจากการสะสม หรือตกผลึกทางความคิดจากการอ่านมาก เห็นมาก สังเกตมาก แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ไอเดียมาจากทั่วทุกหนทุกแห่งรอบตัวคุณ อย่า ไปกะเกณฑ์เอาคำตอบที่ตายตัว การเห็น การคิด การสังเกต การตีความ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะหาที่ไหน ก็ลองนี่เลย
๑. หนังสือพิมพ์ มี ประโยชน์จริงๆ เลยหนังสือพิมพ์นี่ ไม่ว่าคุณจะต้องการโครงเรื่อง ก็หาเอาจากที่นี่ได้ต้องการค้นหาตัวละครก็เอาจากที่นี่ได้ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย อ่านแล้วพิจารณาให้ดีเถอะไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือโฆษณา รวมทั้งรูปภาพด้วย แถมยังได้ข้อมูลที่ทันสมัยอีกต่างหาก ( ลองเขียนแต่ง เติมที่มาของเรื่อง และบทจบซิว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อเรื่องที่คุณอ่านคือ หมอฆ่าภรรยาของตนเองตาย พยายามคิดให้แตกต่างไปจากนวลฉวี หรือ ศยามล ด้วย )
๒. การ์ดอวยพร เวลา ไปเดินที่ห้างก็ลองแวะไปที่แผนกนี้บ้างนะ นอกจากจะเจอการ์ดที่มีรูปภาพต่าง ๆ แล้ว คุณยังจะได้เจอกับถ้อยคำที่น่าสนใจอีกด้วย ในบางขณะที่คุณรู้สึกมึนตึ้บไปกับนิยายรักของคุณไม่รู้จะไปทางไหนต่อ ก็ลองไปเปิดดูถ้อยคำรักซึ้ง ๆ จากการ์ดพวกนี้ได้ แบบตลก ๆ ก็มีนะ
๓. สมุดรายชื่อโทรศัพท์ อย่ามองข้ามมันไปเสียละ เล่มออกโต อย่างน้อยคุณก็หาชื่อให้ตัวละครของคุณได้ในหนังสือพวกนี้ละ
๔.หนังสือคัมภีร์ ของศาสนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พระไตรปิฎก ไบเบิล หรืออัลกุรอ่าน เหล่านี้คือบ่อเกิดของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่
๕.หนังสือนิตยสารต่าง ๆ ไม่ ว่าจะเป็นเรื่องของความสวยความงาม แฟชั่น สุขภาพ ดารา ธุรกิจ แม้กระทั่งประเภท แปลกแต่จริงก็มีเรื่องที่น่าสนใจให้คุณนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น
๖.วรรณคดี นิทาน เป็นเรื่องที่ไม่มีวันตาย ( โดยเฉพาะเรื่องซิลเดอเรลลา ) นักเขียนหลายคน ได้ใช้โครงเรื่องของความเก่าก่อนมาใช้ไม่น้อย แถมบางเรื่อง ยังช่วยในการพัฒนาวิธีการเขียนของคุณได้ด้วยนะ ไปอ่านดูเสียบ้าง
๗. รูปภาพ หรือสมุดภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพคน หรือสถานที่ วิวทิวทัศน์ ใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างตัวละคร หรือฉากสถานที่ ได้ทั้งนั้น
๘. เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ที่บ้าน บนถนน ที่ทำงาน
๙. โทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์
๑๐. Internet เป็นแหล่งข้อมูลที่คุณหาเกือบทุกอย่างที่คุณคิดถึงได้จากมัน
๑๑. ฯลฯ
๕.ะเริ่มเรื่องจากตรงไหน
ให้ เริ่มที่จุดเล็ก ๆ ในหัวใจคุณ จงรู้ไว้เถอะว่า นวนิยายที่คุณได้อ่านออกมาเป็นเล่ม ๆ มันไม่ได้เกิดจากสิ่งใหญ่โตสำเร็จรูป หรือมาเป็นก้อน ๆ หรอก มันเริ่มจุดเล็ก ๆ ก่อนทั้งนั้นจุดที่เรียกร้องความสนใจจากคุณ จุดที่ดึงดูดใจคุณให้อยากเขียน หรือบอกเล่ามันออกมา มันอาจจะมาจาก
•  ประโยคเดียวสั้น ๆ ที่กินใจคุณเหลือเกิน เช่น ผมจะอยู่ได้ยังไงหากปราศจากคุณ ลองคิดดูก่อนจะมาเป็นประโยคนี้ และหลังจากพูดประโยคนี้ มันมีเหตุการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นได้บ้าง
•  สถานที่ที่ตรึงใจคุณ ที่คุณเคยไป หรือเคยเห็นภาพ เช่น ทะเลทรายอันเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และมนตร์ขลังของ ชีครูปงาม
•  เรื่องราวของใครสักคนที่คุณรู้จัก หรือได้ยินเกี่ยวกับเขา จนคุณอยากให้เขียนถึงในแง่มุมที่คุณพึงพอใจ
•  ภาพเหตุการณ์สักอย่างที่เห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา
•  ข่าวหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ยินอยู่ทุกวัน
•  ความ คิดเห็นส่วนตัวในเรื่องบางอย่างที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นทัศนคติในเรื่องที่ขัดแย้งกันใจสังคม หรือแง่มุมความคิดเกี่ยวกับบางอย่างที่ มันมีมากพอที่จะทำให้คุณอยากจะแสดงให้คนเห็นว่า มันควรจะเป็นเช่นนี้ แล้วก็เขียนออกมาให้เห็นโดยผ่านตัวละครในเรื่องที่คุณวางแผนให้เป็นไปอย่าง ที่คุณต้องการ
•  ฯลฯ
๖. การสร้างเรื่องใน ๓ วิธี
สำหรับวิธีจะสร้างให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มักจะอยู่ใน ๓ วิธีนี้
๑.สร้างจากหาตัวละครมา แล้วก็เลือกองค์ประกอบหรือสถานการณ์ต่างใส่เข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร
แนวคิด
๑. เลือกให้ได้ว่าจะให้ใครเป็นตัวเอกในเรื่อง จะให้พระเอก หรือนางเอก คิดถึงหนังสือในแนวที่คุณเคยอ่านเพื่อประกอบการพิจารณา คนแบบไหนที่มักจะเป็น “ ดารา ” ในหนังสือที่คุณชอบ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อายุเท่าไหร่ ? เป็นวัยรุ่นหรือคนแก่
๒. บีบคั้นตัวเอกในเรื่องด้วยปัญหา หรือ วิกฤตการณ์ เป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่ทำให้การดำเนินชีวิตของตัวเอกต้องล้มคว่ำคะมำหงายไป เลย ไอเดียเกี่ยวกับปัญหานี้ก็หาเอาจากรอบ ๆ ตัวคุณ เช่นเพื่อน ครอบครัว ข่าว จินตนาการ เริ่มต้นคิดด้วยคำว่า “ จะเกิดอะไรขึ้นถ้า … . ” , หรือ “ สมมุติว่า …”
๓. สร้างเรื่องเพื่อเป็นเป้าหมายให้ตัวเอก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่องเพื่อทำให้เขาต้องค้นหา และทำเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ถ้าทำสำเร็จ สิ่งเลวร้ายอันเป็นผลมาจากปัญหานั้น ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น และชีวิตก็จะกลับมามีความสุข หรือเป็นปกติอีกครั้ง การเตรียมเรื่องเป้าหมายตัวเอกจะต้องอยากได้ หรืออยากเป็นเจ้าของในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่น คน สิ่งของ หรือข้อมูลสำคัญ หรือเป้าหมายของเขาอาจจะเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเช่น ความกลัว ความเจ็บปวด ความเศร้า ความโหดร้าย การขู่เข็ญ ฯลฯ เตรียมเป้าหมายให้กับตัวเอกด้วยคำว่า เขาหรือเธอตัดสินใจที่จะต้อง .......
๔. รวมเอาสิ่งที่เรา สมมุติว่า หรือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้า เข้าไปรวมกับเรื่องที่นำไปสู่เป้าหมายของตัวเอก เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเธอท้องในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ และเธอตัดสินใจที่จะเก็บเด็กในท้องเอาไว้ แทนที่จะทำแท้ง
๕. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อที่จะแสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละคร ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในท้ายที่สุด
๒.สร้างจากสถานการณ์ใด ๆ ที่เลวร้ายส่งผลให้ตัวละครต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจะผ่านพ้นมันไปให้ได้ ขณะเดียวกันเขาก็เรียนรู้ในสิ่งนี้ไปด้วย
แนวคิด
๑. สร้างสถานการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมันเลวร้าย หรืออยู่ในภาวะยุ่งเหยิงมาก ๆ มีผลร้ายต่อคนใดคนหนึ่ง หรือเมืองใดเมืองหนึ่ง หรือโลกใดโลกหนึ่ง ฯลฯ
๒. คัดเลือกตัวละครที่เหมาะสม ที่จะต้องได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์นั้น อาจจะเป็นคน ๆ เดียว หรือกลุ่มคนก็ได้ที่พยายามต่อสู้กับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่ หยุดยั้ง มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับพวกเขาตลอดทั้งเรื่อง
๓. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องเป็นสิ่งสมเหตุสมผล แต่ก็โยนตัวละคร เข้าไปสู่ความหายนะขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าพวกเขาจะค้นหาวิธีการเอาชนะมันได้ในที่สุด
๔. วิธีการเอาชนะอาจจะมาจากค้นพบ หรือตีความหมายจากปริศนาเพื่อทำลายสิ่งเลวร้าย หรือ ตัวละครสามารถหนีพ้นจากหายนะนั้นได้ เพราะเทคโนโลยี หรือเป็นเพราะพลังใจอันเข้มแข็งแน่วแน่
๕. คนอ่านจะมุ่งความสนใจไปที่ จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นต่อไป และตัวละครจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ทั้งคนอ่านและตัวละครจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
๓.สร้างจากพล็อต แล้วหาตัวละครที่เหมาะสมใส่ลงไป
แนวคิด
๑. สร้างพล็อตขึ้นมา อะไรก็ได้ตามใจ ลำดับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น อย่างเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกันไป
๒. หาตัวละครที่เหมาะสม ใส่ลงไป แสดงบทบาทตามที่พล็อตต้องการ
๓.การ สร้างเรื่องด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับเรื่องที่ต้องการให้คนอ่านคล้อยตามในสิ่ง ที่นักเขียนต้องการแสดง ความคิดออกมา หรือต้องการจะสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่คนอ่าน
( วิธีสร้างเรื่องหรือสร้างพล็อต มีในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )
๗.ความขัดแย้ง เป้าหมาย และแรงจูงใจ
เพื่อ ความสนุก เข้มข้น จริงจัง และมีเหตุผล ในเรื่องทุกเรื่อง พล็อตทุกพล็อต ตัวละครทุกตัว ที่สร้างขึ้นไม่อาจจะปราศจากสามอย่างนี้ไม่ได้
ความขัดแย้ง ( conflict ) คือ ปัญหาหรืออุปสรรค ขัดขวางไม่ให้ ตัวละครเอกของเราเข้าไปถึงเป้าหมายได้ง่าย ๆ เป็นสิ่งที่ตัวละครต้องพบ และต้องขจัดให้หมดไปโดยอาศัยพลังทุ่มเททั้งกายและใจ ไม่ใช่สิ่งที่พูดคุยกันแล้วก็หายไป ความสนุกมันจะอยู่ในตอนนี้ละ ว่าเขาจะทำอย่างไร เพียงแค่ความขัดแย้งก็สามารถนำเป็นพล็อตได้ ที่เห็นบ่อย ๆ ก็อยู่ในเรื่อง
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับคน
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติ
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับสิ่งที่เขาประดิษฐ์สร้างขึ้น
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับตัวเขาเอง
  • ความขัดแย้งระหว่างคนกับความเชื่อ สังคม พระเจ้า
เป้าหมาย ( goal ) เป็น เสมือนอนาคตที่ตัวละครต้องไปให้ถึง เป็นตัวกำหนดทิศทางให้ตัวละครเดินไป ตัวละครทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องจะต้องมีเป้าหมายของตัวเอง ไม่สำคัญว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่มันจะต้องเป็นสิ่งที่ตัวละครต้องการ อย่างจริงจัง ในการสร้างตัวละครขึ้นมาโดยเฉพาะตัวละครสำคัญ คุณต้องกำหนดเป้าหมายของเขาให้ได้อย่างชัดเจน
แรงจูงใจ ( motivation ) เป็น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมของตัวละคร เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครมีเหตุผลที่จะทำบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา และเป็นสิ่งที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจตัวละครมากขึ้น การสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละคร คุณต้องใส่แรงจูงใจให้เขา อย่างเหมาะสม และน่าเชื่อถือ และแรงจูงใจของตัวละครอาจจะมีหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ในการผลักดันให้เขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รุนแรงออกมา
ลักษณะของพล็อตจากสามสิ่งนี้
ตัว ละครจะต้องมีเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งมันมาจากแรงจูงใจอันเป็นบางสิ่งในอดีตของตัวละครที่เป็นแรงผลักดันให้ เขาต้องการ เป้าหมายนั้นอย่างรุนแรง และความขัดแย้งหรือปัญหาก็อยู่ระหว่างกลางตัวละครกับเป้าหมายนี้ วิธีการที่ตอบโต้กับปัญหา และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่เกี่ยวพันสลับกันไป จนปรากฏผลสุดท้ายในที่สุด เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการสร้างพล็อตอย่างง่าย ๆ
   ( วิธีสร้างและเอาความขัดแย้งลงไปในเรื่องหาอ่านได้ในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )
       ๘. การเขียน ๕ อย่างที่ต้องมีในทุกนวนิยายทุกเล่ม
นัก เขียนใหม่ มักจะมีปัญหาเสมอกับการเขียนลงไปในหน้ากระดาษ จด ๆ จ้อง อยู่นั่นแหละว่า จะเขียนลงไปอย่างไร จะเขียนยังไงมันจึงจะออกมาดี แต่หากจะแยกแยะการเขียนในนวนิยายทุกเรื่องแล้ว เราจะพบการเขียนอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน ที่นักเขียนเขียนออกมาได้เป็นเล่ม คือ
๑. เขียนบทสนทนา เป็นการสนทนาของตัวละครโต้ตอบซึ่งกันและกันในฉากเหตุการณ์หนึ่ง ๆ
๒. เขียนบรรยายหรือพรรณนา ซึ่งอาจจะเป็นการบรรยายโดยตรง หรือบรรยายในระหว่างเกิดการกระทำขึ้นก็ได้
  - บรรยายถึงตัวละครสำคัญ
  - บรรยายถึงสถานที่สำคัญ
  - ยิ่งสองสิ่งนี้สำคัญมาก ก็ยิ่งต้องบรรยายมาก
๓. เขียนถึงความคิดของตัวละคร
  - ความคิดจากการใช้มุมมองของบุคคลที่ 3 เช่น เธอคิดว่าเธอไม่ควรจะบอกความจริงเรื่องครอบครัวให้เขาฟังเลย
  - ความคิดของบุคคลที่ 1 ในเรื่องที่ใช้มุมมองของบุคคลที่ 3 เช่น มาริสาล้มตัวลงนอนอย่างอ่อนเพลีย ฉันต้องเป็นหวัดแน่ ๆ เลย เธอคิด แล้วฉันจะไปสอบพรุ่งนี้ได้อย่างไร
  - การให้ข้อมูลโดยการบอกเล่าในห้วงคิดของตัวละคร เช่น มาลีทรุดตัวนั่งบนเตียงอย่างเหนื่อยอ่อน ฉันไปต่อไม่ไหวแล้ว เธอ คิด ตั้งแต่วันชัยเสียชีวิตลงเมื่อสิบปีที่แล้ว เธอต้องทำงานพิเศษเพิ่มมากขึ้น ทั้งทำงานเสริฟในตอนกลางคืน แล้วยังรับผ้ามาเย็บอีกในตอนกลางวัน เพื่อที่จะหาเลี้ยงลูก ๆ ถึงเจ็ดคน เธอเหนื่อยล้าเต็มที แล้วตอนนี้มันก็ถึงเวลาแล้วที่เธอต้องตัดสินใจทำตามข้อเสนอของทรงยศที่ต้อง การ ...( เล่าไปเรื่อย ๆ )
๔. เขียนบอกเล่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
ทรงยศ เดินออกมาถึงถนนใหญ่ มีรถวิ่งตรงเข้ามา เขาโบกมือ รถคันนั้นชะลอ
ความเร็วลงแล้วคนขับก็ยกปืนขึ้นเล็งยิงมาที่เขา
๕. เขียนบอกเล่าเพื่อให้ข้อมูล
ชาญ ชัยเคยแต่งงานมาแล้วสองครั้ง อดีตภรรยาทั้งสองของเขาเสียชีวิตที่หนองน้ำนี้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่ผู้คนในหมู่บ้านต่างซุบซิบนินทากันว่า เขาอาจจะเป็นคนฆ่าเสียเอง
การ เขียนทั้งห้าอย่างนี้ นักเขียนจะเน้นอะไรมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับลีลาการเขียนของแต่ละคน ที่สำคัญคือต้องทำให้มันสมดุลกัน (เท่าที่สังเกตจากการอ่านของตัวเอง ถ้ามีเขียนบอกเล่ามากเกินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็นก็มักจะเปิดผ่านๆไปแต่ไม่เคย ละเว้นบทสนทนาเลย) แต่ก็นั่นแหละ มันต้องสมดุลและเหมาะสม เขียนแล้วลองอ่านให้ตัวเองฟัง สังเกตว่าคุณให้น้ำหนักไปไหนส่วนไหนมากเกินไปหรือเปล่า
แบบฝึก ไป อ่านนวนิยายหลาย ๆ เรื่อง แล้วขีดเส้นใต้ดูว่า ในแต่ละย่อหน้าที่อ่านเป็นการเขียนแบบไหน เลือกเอาตอนที่คุณชอบไปเขียนในแบบที่ต่างออกไป ใน ๕ แบบข้างต้นแล้วอ่านดู
   (เนื้อหาส่วนนี้ ยกมาจากตอนหนึ่งของคำแนะนำในหัวข้อเขียนลงอย่างไรให้เป็นนวนิยายหนึ่งเรื่อง จากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยตัวเอง )
๙. Show don't Tell
เป็นวิธีการเขียนลงไปในหน้ากระดาษ ที่นักเขียนใหม่ถูกแนะนำเสมอว่า ให้แสดงให้เห็น อย่าเพียงแต่บอก (show don't tell) มันแตกต่างกันอย่างไรมาดู
วนิดา เดินเร็วขึ้นเพื่อให้พ้นจากซอยที่ทั้งมืดและเงียบด้วยความกลัว
ประโยคนี้บอกเราว่า วนิดากลัว นี่คือการ บอกหรือ tell
วนิดา กอดกระเป๋าแน่น หัวใจเธอเต้นเร็ว มองซ้ายขวาแล้วซอยเท้าถี่ยิบเพื่อให้พ้นจากซอยที่ทั้งมืดและเงียบโดยเร็ว
ประโยค นี้ จะแสดงให้เราเห็นว่า วนิดากลัว โดย ไม่ต้องบอกชื่อความรู้สึก (กลัว)ให้รู้ แต่คนอ่านคาดคะเนได้ว่าเธอกลัวจากการที่ เธอกอดกระเป๋าแน่น หัวใจเต้นเร็ว มองซ้ายขวา ซอยเท้าถี่ยิบ นี่ลักษณะของการแสดงให้เห็นหรือ show
แม้ว่าจะมีคำแนะนำอย่างนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า การเขียนแบบแสดงให้เห็น( show )จะดีกว่าการเขียนบอก (tell) เสมอ เพราะมันอยู่ที่วิธีเลือกใช้อย่างเหมาะสมต่างหาก ( มีคำแนะนำเพิ่มเติมในหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียนนวนิยายคุณเขียนได้ตัวเอง )
แบบฝึกหัด เขียนแสดงให้เห็นในเรื่องอารมณ์ต่อไปนี้
เด็กชายที่ถูกจับขังในห้องใต้ดินที่ทั้งมืดและเย็น เขียนแสดงให้เห็นว่า เขากลัว เขาตื่นเต้น เขาสนุก เขาโกรธ
สุภาพสตรีที่อยู่ในงานเลี้ยงหรูหรา เขียนแสดงให้เห็นว่า เธออาย เธอประหม่า เธอตื่นเต้น เธอสนุก เธอเบื่อ


๑๐. เปิดเรื่องอย่างไรให้น่าสน
การเขียนเปิดเรื่อง เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเสมือนการเชิญชวนให้คนอ่านสนใจ เพราะร้อยทั้งร้อย เวลาคนอ่านเลือกซื้อนวนิยายสักเล่ม จะต้องเปิดอ่านบทแรกของเรื่อง หากนักเขียนสามารถสร้างความสนใจ หรือ สร้างความสงสัยใคร่รู้ให้กับคนอ่าน จนอยากจะรู้เรื่องต่อไปได้ ก็เท่ากับว่าได้รับความสำเร็จไปก้าวหนึ่งแล้ว มีบางคนถึงกับลงมือเขียนไม่ได้เพราะ ไม่รู้จะเขียนอะไรลงไปในตอนแรก ๆ บางคนก็มีอาการผวา หน้ากระดาษเปล่า ๆ จนไม่ได้เริ่มเขียนสักที แต่จะมัวคิดมาก และเห็นว่ามันสำคัญมากจนเป็นสาเหตุให้คุณไม่สามารถลงมือเขียนได้เสียที ก็ขอบอกว่า ลงมือเขียนลงไปก่อนเถอะ อย่าไปคิดมาก เขียนลงไปให้มันจบให้ได้ เพราะคุณมีเวลาเหลือเฟือ ที่จะกลับมาแก้ไข เปลี่ยนแปลง มันทีหลัง ดีกว่าจะกลัวจนไม่ได้เขียน หากยังติดขัดอยู่ก็ลองอ่านวิธีเขียนเปิดเรื่องของคนอื่นแต่ง แล้วลองปรับใช้ให้เป็นของคุณเองก็แล้วกัน ไม่มีสูตรสำเร็จในการเปิดเรื่องให้น่าสน จะมีก็แต่คำแนะนำง่าย ๆ ( แต่ทำได้ยาก ) ว่า
จงเปิดเรื่องที่จับคนอ่านให้ติดอยู่กับมันให้ได้ สร้างความสนใจ ความสงสัย การคาดคะเน หรือก่อให้เกิดคำถาม จนอยากจะเปิดอ่านหน้าต่อไป
นักเขียนต่างมีวิธีเปิดเรื่องแตกต่างกันไปดังนี้
•  เปิดเรื่องด้วยคำพูดของตัวละคร
•  เปิดเรื่องด้วยการพรรณนาฉากสถานที่และสิ่งแวดล้อม
•  เปิดเรื่องด้วยการบรรยายเหตุการณ์
•  เปิดเรื่องโดยจดหมาย ข้อความ หรือวลี ที่สร้างความสนใจ
•  เปิดเรื่องโดยพรรณนาถึงตัวละคร
•  เปิดเรื่องโดยบอกถึงประวัติของตัวละครหรือสถานที่
•  ฯลฯ
การเขียนเปิดเรื่องไม่ว่าจะเริ่มแบบไหน สิ่งสำคัญคือ อย่าเยิ่นเย่อ บรรยายยืดยาว หรือบอกเล่าถึงความหลังจนน่าเบื่อ ควรจะนำเข้าไปสู่เรื่องราวหรือเข้าถึงตัวละครให้เร็วที่สุด
แบบฝึกหัด
ให้อ่าน นวนิยายหลาย ๆ เรื่อง แล้วบันทึกการเขียนเปิดเรื่องของแต่ละเล่มไว้ แยกแยะดูว่า แบบไหนที่คุณชอบ ไม่ชอบ แล้วลองเขียนไปตามความคิดของคุณเอง

๑๑. การตรวจแก้ไขต้นฉบับ
เมื่อ เราเขียนนวนิยายจบแล้ว ใช่ว่าการเขียนหนังสือของเราจะจบลงเพียงแค่นั้น นักเขียนที่ดีมักจะทำการอ่านทบทวนตรวจแก้ผลงานตัวเองจนพอใจแล้วจึงจะนำออกไป สู่สาธารณะ และก็มีบางคนเหมือนกันที่คิดว่า ขั้นตอนนี้มันยากและน่าเบื่อเสียกว่าการเขียนในตอนแรกเป็นไหน ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร นักเขียนใหม่อย่างเราต้องใส่ใจเอาไว้เลยว่า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ และควรทำทุกครั้งที่คุณเขียนต้นฉบับแรกเสร็จ มาเริ่มกัน
๑. วางแผน
ก่อนจะทำการตรวจแก้ควรจะวางแผนไว้เสียก่อนว่าจะตรวจทานเรื่องอะไรในการอ่านแต่ละครั้ง เช่น
  การ ตรวจแก้ไขครั้งที่หนึ่ง ดูโครงสร้างความไหลรื่นของเรื่องตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบ ตัวละครมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โครงเรื่องย่อยสัมพันธ์กับโครงเรื่องใหญ่ไหม แต่ละบทมีเบ็ดเกี่ยวให้คนอ่านติดตามหรือเปล่า ฯลฯ
  การตรวจแก้ไขครั้งที่สอง เพื่อเพิ่มเติมในสิ่งที่ขาดหาย หรือตัดทิ้งในสิ่งที่ไม่จำเป็น
  การ ตรวจแก้ไขครั้งที่สาม ดูรายละเอียดไปทีละอย่าง ทีละบท ภาษาที่เลือกใช้เหมาะสมแล้วหรือยัง แสดงออกถึงความหมายที่ต้องการจะสื่อไหม ใช้คำซ้ำซากหรือเปล่า
  การตรวจแก้อีกครั้งหลังจากที่แก้ไขไปแล้ว
๒. จัดเตรียม
  - ต้นฉบับ พิมพ์งานเขียนออกมา หากคุณทำมันในคอมพิวเตอร์ การอ่านในกระดาษกับการอ่านจากจอมอนิเตอร์มันแตกต่างกัน แม้จะต้องใช้ต้นทุนมากขึ้น คุณก็ต้องยอม และถ้าหากคุณเขียนมันด้วยลายมือของคุณเอง ก็จงใช้เครื่องพิมพ์ดีด พิมพ์มันออกมา ด้วยวิธีการนี้จะทำให้คุณเห็นงานของคุณในมุมมองใหม่ ความผิดพลาดจะชัดเจนยิ่งขึ้น ความใกล้ชิดกับผลงานของคุณก็มีมากขึ้น เมื่อคุณสามารถที่ลบ ขีดฆ่า โยงเส้นสายได้ตามใจชอบของคุณและ เพื่อสายตาของคุณเอง อย่าพยายามตรวจแก้ในจอมอนิเตอร์เด็ดขาด
( ในการพิมพ์ ควรจะมีระยะห่างระหว่างบรรทัดมากกว่าปกติ และส่วนกั้นหน้าและหลังให้เหลือพื้นที่กระดาษมากพอที่คุณจะเขียนลงไปได้ )
  - ปากกา ควรจะมีปากกาต่างสีที่เขียนได้ลื่นคล่องมือ สักสองสามสี
  - สมุดเล่มเล็ก เพื่อจดเอาไว้ว่า จะต้องเพิ่มเติมอะไร หรือแก้ไขในตอนไหนบ้าง
๓. จัดตารางเวลา
ในการตรวจแก้ ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ กำหนดเวลาแล้วเสร็จด้วย
๔.ขณะที่ทำการตรวจแก้
ให้ แกล้งทำเป็นว่าคุณไม่เคยพบเห็นเรื่องนี้มาก่อนเลย ( จึงมีข้อแนะนำว่า หลังจากที่คุณเขียนหนังสือจบแล้ว ควรทิ้งมันไว้สัก 2-3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น แล้วจึงเอามาทำการตรวจแก้ ) อย่าอ่านด้วยความคิดว่าคุณคือคนเขียนเรื่อง แต่อ่านให้เหมือนกับคุณเป็นคนอ่านอื่น ๆ หรือเป็นนักวิจารณ์   
๕. อ่านดัง ๆ
เพื่อให้ตัวคุณเองได้ยินเสียงด้วย เริ่มอ่านตั้งแต่เริ่มต้น จนจบ พร้อมกับตั้งคำถามไปด้วย เช่น
  - ตัวละครที่ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ได้หายไปโดยไม่ได้อธิบายหรือเปล่า ( ตาย หรือเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ )เพราะตัวละครไม่ควรจะหายไปจากเรื่องเสียเฉย ๆ
  - ตัวละครยังคงเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปจากตอนต้นของเรื่องไหม ถ้าเปลี่ยน ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือเปล่า
  - ฉากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มี ได้ช่วยให้เกิดไอเดีย หรือสร้างบทบาทใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อจะเชื่อมไปยังตอนจบไหม
  - คุณพบวัตถุประสงค์ในเรื่องที่คุณต้องการเสนอแล้วหรือยัง ( หาแก่นเรื่องของตัวเองเจอไหม )
  - ฉากเหตุการณ์ ในแต่ละบทเหมาะสม และเขียนออกมาได้ดีหรือยัง
  - ตัวสะกด ภาษาที่ใช้ เหมาะสมถูกต้องเพียงใด
  - ฯลฯ
๖. ระหว่างที่อ่าน
คุณสามารถแก้ไขความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อยไปได้ด้วย เช่น ตัวสะกด การใช้ภาษา
๗. ทำเครื่องหมายดอกจันทร์
ไว้ที่ตอนที่คุณเห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยน และเขียนความคิดที่จะเปลี่ยนเอาไว้ใจสมุดโน้ตด้วย
๘. เมื่ออ่านจบทั้งเรื่อง
ก็ ให้เริ่มอ่านใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มเติม หรือตัดทิ้งสิ่งที่ต้องการแก้ไขได้ ขั้นตอนนี้อย่าได้ทำจนกว่าคุณจะอ่านตลอดทั้งเรื่องจบก่อน บางครั้งเรื่องราวก็ผูกโยงสัมพันธ์กัน ทำให้ต้องแก้เป็นทอด ๆ จงมั่นใจว่าคุณต้องการที่จะเพิ่ม หรือตัดตอนใดตอนหนึ่งทิ้งไปจริง แล้วไม่ลืมที่จะไปแก้ผลที่ตามมาตอนหลังด้วย ขอแนะนำว่า ควรจะอ่านซ้ำที่คุณต้องการเพิ่ม หรือตัดทิ้งให้ดีเสียก่อน แล้วจึงแก้ไปทีละบท ๆ
๙. อ่านอีกครั้ง
หลังจากที่คุณรวมทุกอย่างที่คุณแก้ไขเข้าด้วยกันแล้ว
๑๐. สิ่งที่คุณตัดทิ้ง หรือไม่ใช้แล้ว
ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ควรจะทิ้งไปทันที ให้เก็บเข้าแฟ้ม “ ตัดทิ้ง ” เอาไว้เผื่อใช้เป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นได้
๑๑. ในการตรวจแก้ อย่าไปเสียดาย
หรือ กลัวจะเสียเวลาที่จะตัดบางตอน หรือบางบททิ้งไปทั้งหมด นักเขียนบางคนเขียนลงไปเพราะรู้ในสิ่งที่เขียน หรืออาจจะรัก หรือสนุกกับตอนนั้น แต่เพราะการเขียน นวนิยายไม่ใช่การเขียนทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในหนังสือ แต่เป็นการเขียนสิ่งที่สำคัญที่สุดลงไปในหนังสือ หากบทไหน ตอนไหน ไม่ได้สอดคล้อง หรือทำให้เรื่องมันสอดคล้องเดินหน้าไปตามที่วางจุดประสงค์ไว้ ก็ควรทิ้งมันไป เอาไปใส่ในหนังสือเล่มต่อไปของคุณก็ได้
๑๒. ยิ่งคุณตรวจแก้มากเท่าไหร่
งาน ของคุณก็จะออกมาดีมากเท่านั้น ( ไม่ใช่ยิ่งแก้ยิ่งเละนะ )สิ่งหนึ่งที่ต้องขอเน้น และทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ วิธีการตรวจแก้ หรือเรื่องที่จะแก้ไขนั้น นักเขียนแต่ละคนมีวิธีของตัวเองอาจจะไม่เหมือนใคร ไม่มีคำว่าถูกหรือผิดในการใช้แต่ละวิธี ตราบใดที่มันยังทำงานให้คุณได้ผล
เอามาจาก www.forwriter.com


2 ความคิดเห็น:

Okey Dokey กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะหนูมาชิดา ทับสามเองนะคะ ขอบพระคุณมากนคะคุณครูที่นำความรู้มาให้อ่าน^^

wana กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ ครูเบิร์ด
หนูวนา ม.๓/๓ นะคะ
ขอบคุณมากนะคะสำหรับความรู้ที่ครูที่ครูหามาให้ศึกษาค่ะ^/\^